Medical Advisor Sharing by P'MAM



สวัสดีครับ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆทั้งหลาย ผ่านครึ่งปีแรกมาอย่างสวยงาม(หรือเปล่า) ของทุกท่านนะครับ ที่ผ่านมา
Pharm Connection ได้แนะนำพี่ๆน้องๆเก่งๆหลายคนในวงการไปบ้างแล้วซึ่งจริงๆวงการยาของเรามีคนเก่งจำนวนมากจนสัมภาษณ์ได้ไม่หมดจริงๆครับ
แต่วันนี้พิเศษสุดๆ จริงๆครับ เป็นอะไรที่เราภูมิใจมากๆที่เราได้รับเกียรติจากคนเก่งอีกคนหนึ่งของวงการยา
ขอต้อนรับพี่ "ภก. นพพร ตระการศิริวานิช" หรือ พี่แมม นะครับ



พี่แมม เป็น Medical advisor ที่จบเภสัช คนที่สองของเมืองไทย กับเป็น Medical Science Liaison Manager (MSL Manager) คนแรกของเมืองไทย แค่อ่านตำแหน่งก็น่าสนใจแล้วครับ
ประวัติการศึกษา ของพี่แมมนะครับ ปริญญาตรีจบเภสัชศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2539
ปริญญาโทจบบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2546
เรามาคุยกับพี่แมมกันดีกว่าครับ
PC : สวัสดีครับพี่แมมครับ ก่อนอื่นขอขอบคุณพี่แมมที่ให้เกียรติมาพูดคุยกันนะครับ ปัจจุบันพี่แมมทำงานอะไรครับ
พี่แมม : สวัสดีครับน้องๆพี่ๆในวงการทุกท่านนะครับ ปัจจุบันผมเป็น Senior Medical Advisor ที่บริษัทยาชั้นนำแห่งหนึ่งครับ
PC : งาน Medical Advisor ต้องทำอะไรบ้างครับ
พี่แมม : โดยคร่าวๆ งานต่างๆในส่วนที่รับผิดชอบได้แก่:
• การดำเนินการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ clinical study และประสานงานในส่วน study ที่นักวิจัย/ แพทย์เป็นเจ้าของงานวิจัยและใช้ยาที่เป็นของบริษัทในการทำวิจัย
• การมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนธุรกิจประจำปีของผลิตภัณฑ์
• รับผิดชอบในส่วนเนื้อหาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรในส่วนการจัดประชุมวิชาการต่างๆที่จัดโดยฝ่ายการตลาดและฝ่ายขาย
• ให้คำปรึกษาด้านวิชาการแก่ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย แผนกขึ้นทะเบียนยา และฝ่าย/แผนกอื่นๆ
• ดำเนินการฝึกอบรมด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องให้แก่ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ผู้ประสานงานการวิจัย (CRA; Clinical Research Associate)
• ประสานงานและสนับสนุนข้อมูลกับสำนักงานภูมิภาค(ต่างประเทศ) และสำนักงานใหญ่ รวมถึงดำเนินงานเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของสำนักงานภูมิภาค/สำนักงานใหญ่
• จัดกิจกรรมที่เป็นงานเฉพาะของแผนกการแพทย์ เช่น การปรึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในส่วนของการรักษาโรคที่ทางบริษัทมียาวิจัย/ ยารักษาอยู่ในตลาด
• การสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ในเชิงวิชาการกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิชาการกับลูกค้าเป้าหมาย
• การตรวจสอบเนื้อหาและชิ้นงานที่จัดทำโดยฝ่ายอื่นๆ ในด้านความถูกต้องและเหมาะสมของเนื้อหาและสอดคล้องกับข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานของบริษัทและมาตรฐานของธุรกิจยา
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นงานหลักของตำแหน่งนี้ งานอื่นๆที่จะได้รับมอบหมายเพิ่มเติมก็จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยหรือเกี่ยวข้องกับด้านวิชาการครับ
PC : พี่แมมครับในฐานะ Medical advisor พี่แมมมีความมุ่งหวังอย่างไรต่องานวิจัยในประเทศครับ
พี่แมม : เป้าหมายในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า มุ่งหวังให้นักวิจัยของไทยสามารถเข้าร่วมงานวิจัยในระยะที่1 (Phase I) ได้โดยเฉพาะในส่วน Escalation Phase เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการวิจัยของประเทศไทยครับ เนื่องจากเท่าที่ทราบในปัจจุบัน อาจยังไม่มีนักวิจัยของไทยได้มีโอกาสร่วมการศึกษาในระยะดังกล่าวกับบริษัทยาชั้นนำของโลกครับ
PC : อยากทราบความเห็นต่องานในส่วน Medical Affairs ของบริษัทยาครับ
พี่แมม : คาดว่างานในส่วนนี้จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆรวมถึงจำนวนบุคลากรในสายงานนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกันครับ เนื่องจากบริษัทยาชั้นนำทุกบริษัทต่างก็ให้ความสำคัญและลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วน Research & Development (R&D) จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาร่วมทำงานในส่วนนี้
PC : อยากให้พี่แมมแนะนำถ้ามีผู้สนใจจะทำงานตำแหน่ง Medical advisor ต้องมีคุณสมบัติและประสบการณ์ทำงานอะไรบ้างครับ
พี่แมม : ถ้าเริ่มจากน้องๆที่จบใหม่ สามารถเริ่มงานจาก Medical Representative หรือเริ่มจาก CRA แล้วอาจเปลี่ยนสายงานไปยัง Medical Affairs โดย สมัครในตำแหน่งMSL ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ promote ขึ้นมาครับ และความก้าวหน้าในสายอาชีพของ MSL อย่างหนึ่งก็คือการเติบโตเป็น Medical Advisor หรือในบริษัทยาหลายบริษัทอาจเรียกตำแหน่งนี้ว่า Medical Affairs Manager อย่างไรก็ตามในการคัดเลือกผู้ที่มาทำตำแหน่งนี้ การมีวุฒิที่มากกว่าปริญญาตรี เช่น ปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้อง, Pharm.D. หรือ Ph.D. ก็ย่อมเป็นที่สนใจและมีโอกาสได้รับการพิจารณามากกว่าเป็นเรื่องปกติครับ
สำหรับน้องๆที่มีวุฒิปริญญาโทหรือเอกอยู่แล้วและยังไม่ได้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมยา ก็สามารถสมัครในตำแหน่ง MSL ได้ครับ ส่วนตำแหน่ง Medical Advisor ถ้ายังไม่มีประสบการณ์ในวงการมาก่อน วุฒิการศึกษาที่บริษัทส่วนใหญ่ต้องการจะเป็น M.D. หรือ Ph.D. ครับ
ถ้าสนใจตำแหน่งนี้ ก็ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่รู้จักในวงการยา หรือค้นหาข้อมูลจากเวบไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครงานทั่วๆไปได้ครับ ซึ่งก็จะต้องผ่านการสัมภาษณ์และการทดสอบต่างๆตามที่กำหนดของแต่ละบริษัท ในช่วงของการสัมภาษณ์ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้สอบถามถึงรายละเอียดของงาน เพราะอาจมีความแตกต่างกับข้อมูลในที่นี้ตามแต่ละบริษัทไปครับ
PC : ขอขอบคุณพี่แมม มากครับ สำหรับข้อมูลดีๆในตำแหน่งงานที่หลายๆคนอาจจะมองว่าไกลตัวและยากในการไปถึงนะครับ แต่ถ้าเราเตรียมตัวให้ดี เราจะไม่พลาดโอกาสดีๆในชีวิต ครับ ขอบคุณครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รายนามสถานที่นำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรทั่วประเทศไทย ข้อมูลเดือน กค. 2556

10 อันดับคำถาม ที่เค้านิยมจะถามกันโดยมากเวลาสัมภาษณ์งาน

รายชื่อ บริษัทขายเครื่องมือแพทย์ ที่น่าเชื่อถือ(ตอนที่2)