แนะนำวิธีเลือกหนังสืออ่าน (โดยเฉพาะหนังสือภาษาอังกฤษ)

แนะนำวิธีเลือกหนังสืออ่าน

ช่วงนี้แนะนำหนังสือไป ดูหลายคนสนใจ วันนี้ก็เลยอยากจะมาแนะนำ
เทคนิคที่ผมใช้ เวลาจะเลือกซื้อหนังสือ (เน้นที่ภาษาอังกฤษ) มาอ่านให้ฟังคร่าวๆครับ

โดยทั่วไปหนังสือภาษาอังกฤษจะแพง และหนากว่าหนังสือภาษาไทยใช่ไหมครับ?
จะเลือกซื้อเล่มไหนมาอ่าน เราก็อาจจะต้องคิดมากกว่าซื้อภาษาไทย นี๊ดนึง
หนังสือเกี่ยวกับอะไร? จะดีหรือเปล่าก็ไม่รู้? จะซื้อมาแล้วอ่านไม่จบหรือเปล่าก็ไม่รู้? 

วิธีที่จะพอช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมีดังต่อไปนี้ครับ

วิธีแรกเลย คือ หาคำว่า Talk@google ใน youtube ครับ 
มันคือวีดีโอ ที่เขาอัดเวลาเชิญคนต่างๆที่น่าสนใจ ไปพูดให้พนักงานของ google
หลายปีก่อน เห็นใช้คำว่า Author@google คือ จะเชิญคนที่เขียนหนังสือแนวต่างๆไปพูด 
แต่หลังๆจะมีการเชิญคนที่หลากหลายมากขึ้น 
มีทั้งเรื่องของการเมือง ดนตรี นักกีฬา คนจากวงการบันเทิง ฯลฯ ซึ่งหลายคนไม่ได้เขียนหนังสือ
เลยใช้ชื่อเป็น talk@google

ข้อดีแรกของ author@google คือ นักเขียนที่เชิญไปพูด มักจะถูกคัดเลือกแล้วว่า
หนังสือของเขาน่าสนใจจริงๆ

ข้อดีข้อที่สองคือ เราได้ฟังเนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือคร่าวๆ จากปากของคนเขียนเอง
ซึ่งอาจจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า เนื้อหามันอยู่ในความสนใจของเราตอนนี้หรือเปล่า


วิธีที่สอง คือ ใช้ Amazon.com

อย่างแรกเลยคือ ใช้อ่านรีวิว หนังสือที่เราสนใจ อันนี้ตรงไปตรงมา

อย่างที่สอง คือ สมัครสมาชิก
สำหรับท่านที่เคยซื้อหนังสือจาก Amazon เรื่อยๆ คนทราบดีว่า เว็ปจะเก็บข้อมูลการอ่านของเรา
รวมไปถึง คะแนนที่เราให้หนังสือแต่ละเล่ม เพื่อเรียนรู้ว่า เราชอบแบบไหน แล้วมันจะแนะนำหนังสือ
แนวเดียวกับที่เราชอบมาให้เรื่อยๆ รวมถึงหนังสือใหม่ๆแนวเดียวกัน
แต่สำหรับท่านที่ไม่เคยซื้อมาก่อนก็ยังใช้ประโยชน์ข้อนี้ได้ 
โดยการไปเลือกหนังสือที่เราเคยอ่านแล้วชอบแน่ๆใส่ไปใน wish list
หรือไปให้คะแนนหนังสือที่เราชอบ มันก็จะเรียนรู้ว่าเราชอบแบบไหน

รายละเอียดว่าทำยังไง ก็ลองค่อยๆเข้าไปกดเล่นดูนะครับ ไม่ยากอะไร

แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียคือ การอ่านของเราอาจจะแคบลงได้ 
คือ ขาดความหลากหลายของการอ่าน ซึ่งอาจทำให้มุมมองของเราแคบลงได้

จากนั้นเมื่อเราได้ชื่อหนังสือที่น่าสนใจแล้ว 
เราก็เอาชื่อคนแต่งไป หาใน youtube  อาจจะเจอวีดีโอที่เขาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับหนังสือ
เราก็พอจะได้ไอเดียกว้างๆว่า หนังสือนั้น น่าสนใจแค่ไหน

วิธีที่สาม อันนี้เน้นสำหรับวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
นั่นคือ คอลัมน์แนะนำหนังสือในนิตยสาร Scientific American
ซึ่งจะอยู่ท้ายๆเล่ม 
จากประสบการณ์ที่ ติดตามคำแนะนำนี้มาเกือบสิบปี 
ส่วนตัวผมยังไม่เคยผิดหวังสักครั้ง หนังสือที่เลือกมาแนะนำใช้ได้ทุกเล่ม 

วิธีที่ สี่ คือใช้ เว็ป goodreads.com 
อันนี้ขอไม่อธิบายนะครับ ตรงไปตรงมา สมัครสมาชิก เข้าไปอ่านรีวิว เขียนรีวิว อ่านลิสต์ของคนอื่นๆ
อ้อ.. พูดถึงเว็ปนี้ ก็ต้องบอกว่า มีหนังสือของผมอยู่ด้วย ทั้งสามเล่ม
ตั้งแต่เรื่องเล่าจากร่างกาย ถึง 500 ล้านปีของความรัก (ยังไม่ได้ดูเลยว่าเล่มล่าสุดมีหรือเปล่า)
และรายละเอียดของผู้เขียนด้วย ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครทำไว้ แต่ถ้าอยู่แถวนี้แล้วอ่านเจอก็ ขอขอบคุณไว้ตรงนี้เลยนะครับ
รวมไปถึงคำรีวิว และคำแนะนำอื่นๆด้วย

วิธีอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งก็ไม่มีอะไรมาก คงรู้ๆกันอยู่แล้ว เช่น กูเกิ้ลหารีวิว 
หาพวกบล็อคเกอร์ที่ชอบรีวิวหนังสือ 
หาช่องในยูทูปที่มีรีวิวหนังสือ (ซึ่งมีเยอะพอควร) 


อ้อ.. แล้วสำหรับท่านที่ภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยแข็งแรง 
ผมแนะนำนะครับว่า อ่านไปเถอะ ฝืนอ่านฝืนฟังไปเรื่อยๆ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร
ไม่ต้องไปค้นหาศัพท์ทุกคำที่ไม่รู้ คำไหนเจอบ่อยๆแล้วอยากรู้จริงๆค่อยไปเปิดหา
สมองเราจะ แอบเรียนรู้ ภาษาไปโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้ววันนึง (เขาว่ากันว่าประมาณชัวโมงที่ 20 แห่งการอ่านอย่างจริงจัง)
จู่ๆเราจะรู้สึกว่าเราเริ่มอ่านเก่งขึ้นเองอย่างรวดเร็ว (เหมือนหัดขี่จักรยาน ที่ล้มไปเรื่อยๆแล้วจู่ๆมันก็ขี่ขึ้นมาได้เฉยๆ) 


คร่าวๆก็ประมาณนี้ 
ขอให้สนุกกับการเรียนรู้ผ่านการอ่านกันทุกคนครับ

Credit : เภสัชกรการตลาด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

10 อันดับคำถาม ที่เค้านิยมจะถามกันโดยมากเวลาสัมภาษณ์งาน

รายนามสถานที่นำหรือสั่งยาแผนปัจจุบันเข้ามาในราชอาณาจักรทั่วประเทศไทย ข้อมูลเดือน กค. 2556

รายชื่อ บริษัทขายเครื่องมือแพทย์ ที่น่าเชื่อถือ(ตอนที่2)